องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืนว่า เป็นระบบเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานและเชื่อมโยงระหว่างดิน การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ การเลิกหรือลดการใช้ทรัพยากรจากภายนอกระบบที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนเน้นการใช้เทคนิคที่เป็นหรือปรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการธรรมชาติของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการคือ
- ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาการจัดการดินและการหมุนเวียนการปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการพึ่งพาเครื่องจักรและสารเคมีเพื่อการเกษตร ทั้งปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช
- ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และหาสิ่งทดแทนตลอดจนนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาเวียนใช้ใหม่ เช่น ที่ดิน (ดิน) น้ำ และสิ่งมีชีวิตในป่า หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างของดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ
- ความยั่งยืนด้านสังคม ด้วยการใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น อย่างน้อยสำหรับเทคนิคการเกษตรบางประเภท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความเป็นปึกแผ่นในสังคม
แนวทางเกษตรยั่งยืน
ประกอบด้วยหลัก 5 ประการสำคัญ คือ
- การปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้พืชสามารถเจริญเติบโตและมีความแข็งแรง โดยเน้นการจัดการอินทรียวัตถุในดินและการส่งเสริมสิ่งมีชีวิตในดิน
- การรักษาธาตุอาหารและสร้างสมดุลของวงจรธาตุอาหารโดยการตรึงไนโตรเจน การดึงธาตุอาหารจากดินชั้นล่าง และการใช้ปุ๋ยอย่างหมุนเวียน
- การลดการสูญเสียอันเนื่องมาจากรังสีแสงอาทิตย์ อากาศ และน้ำ โดยการจดการภูมิอากาศย่อย การจัดการ และการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน
- การลดการสูญเสียอันเนื่องมาจากศัตรูพืช โดยการป้องกนและกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย
- ส่งเสริมการเกื้อกูลกันระหว่างสิ่งมีชีวิตในฟาร์ม โดยการเริ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งเป็นวิธีการเกษตรที่ผสมและมีความหลากหลายของระบบนิเวศ
ระบบเกษตรยั่งยืน
- ระบบไร่หมุนเวียน
- ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated farming)
- ระบบไร่นาสวนผสม (Mixed/Diversefied/Polyculture Farming)
- ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตร (Agro Forestry)
- เกษตรธรรมชาติ (Natural farming)
- เกษตรทฤษฏีใหม่
- เกษตรกรรมประณีต
- เกษตรอินทรีย์ (Organic farming)
- เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ (Beyond Organic farming)
ความมั่นคงด้านอาหารของโลกขึ้นอยู่กับการ “กลับสู่พื้นฐาน” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมในชนบท… …”การทำการเกษตรและการผลิตที่ฉลาดขึ้น จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ปัญหา”
เฮเลน คลาร์ก : ผู้อำนวยการบริหาร UNDP
โดยสรุป ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนควรจะสามารถ
- ให้ผลผลิตที่มีคุณค่าสารอาหารด้านโภชนาครบถ้วน และสามารถสร้างรายได้ในระดับที่เพียงพอ ให้ผลผลิตหลากหลายชนิด เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงด้านอาหาร
- เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกร
- ใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้ประโยชน์จากความมีประสิทธิภาพของระบบการผลิตในที่ดินแปลงเล็กหรือของเกษตรกรรายย่อย
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมเกสรตามธรรมชาติ (open pollination) เพื่อให้ความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์กลับมาอยู่ในมือของเกษตรกรและชุมชน และส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พื้นเมืองเพื่อความเหมาะสมกับท้องถิ่นที่เพาะปลูก
- ใช้เครื่องมือการเกษตรที่อาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ไม่มีความซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและลดการใช้ต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรในดิน
- ปรับเข้าได้กับวัฒนธรรมการผลิตของท้องถิ่น และสามารถตกทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อไปได้
- เป็นวิธีที่ทำได้โดยเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินแปลงเล็ก ขนาดราว 10 ไร่ ไม่ว่าเกษตรกรผู้ผลิตจะมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับใดก็ตาม
วิธีการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนไม่ควรจะ
- พึ่งพาเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่
- พึ่งพิงการใช้ปุ๋ยหรือใส่สิ่งเพิ่มเติมจำนวนมากลงในดิน (รวมทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก) ที่ไม่สามารถผลิตได้เองจากในพื้นที่ที่ทำการเกษตร
- ต้องใช้ทรัพยากรหรือผลผลิตจากทรัพยากรที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม
- ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนโลก ต้องลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกันทำให้มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่าที่จะทำได้
การปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรให้ทันสมัยเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องพิจารณาอย่างชาญฉลาดและไม่ขาดความรับผิดชอบนะคะ
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร และ ศูนย์วิจัยเอสวีกรุ๊ป
ฝากคำถามเรื่องเกษตรกรรม การป้องกัน, การรักษาโรคพืช, การกำจัดแมลงศัตรูพืช, หรือสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ที่ Line Add Friends ครับ